กฎหมายการตรวจสอบอาคารมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการตรวจสอบความมั่นคงอาคาร ระบบอุปกรณ์ประกอบอาคาร
สมรรถภาพของระบบอุปกรณ์เพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร และระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคารเพื่อความปลอดภัยและสามารถใช้งานได้ ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบว่าอาคารผิดกฎหมายหรือไม่

ประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารตามกฎหมาย มี 9 ประเภท ดังนี้

  1. อาคารสูง ที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตร ขึ้นไป
  2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
  3. อาคารชุมนุมคน ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร ขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ 500 เมตร ขึ้นไป
  4. โรงมหรสพ
  5. โรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้อง ขึ้นไป
  6. สถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตร ขึ้นไป
  7. อาคารชุด หรือ อาคารอยู่อาศัยรวม ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป มีบทเฉพาะกาล
    7.1 อาคาร ที่มีพื้นที่ 2,000 – 5,000 ตารางเมตร ยกเว้นให้ 7 ปี
    7.2 อาคาร ที่มีพื้นที่มากกว่า 5,000 ตารางเมตร ยกเว้นให้ 5 ปี
  8. โรงงาน ที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร
  9. ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ที่มีความสูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตร ขึ้น ไป หรือมีพื้นที่ของป้ายตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือ ป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาร ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป

ความถี่ในการตรวจสอบอาคาร การตรวจสอบอาคารแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  1. การตรวจสอบใหญ่เป็นการตรวจสอบทุกระยะ 5 ปี
  2. การตรวจสอบประจำปีตามแผนการตรวจสอบที่ผู้ตรวจสอบจัดทำขึ้นในช่วงปีระหว่างการตรวจสอบใหญ่

กำหนดการตรวจสอบอาคาร

  1. อาคาร 9 ประเภทต้องตรวจสอบเมื่อกฎกระทรวงนี้บังคับใช้แล้ว 2 ปี คือต้องตรวจให้เสร็จภายใน วันที่ 29 ธันวาคม 2550
  2. อาคารที่สร้างเสร็จหลัง วันที่ 29 ธันวาคม 2550 ต้องตรวจสอบใหญ่ เมื่อเปิดใช้อาคารไปแล้ว 1 ปี หน้าที่ของเจ้าของอาคาร

เจ้าของอาคารต้องมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. จัดหาผู้ตรวจสอบซึ่งขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมืองมาเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร
  2. จัดหาหรือจัดทำแบบแปลนอาคารเพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบ
  3. แจ้งท้องถิ่นให้ออกหนังสือรับรองการตรวจสอบอาคาร
  4. เจ้าของอาคารหากไม่ดำเนินการ จะมีบทกำหนดโทษไว้ดังนี้
    4.1 ไม่จัดให้มีการตรวจสอบ (มาตรา 65 ทวิ)
    • จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    • ปรับเป็นรายวัน ๆ ละไม่เกิน 10,000 บาท
    4.2 ไม่ทำการแก้ไขตัวอาคารหรืออุปกรณ์ที่ชำรุดตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่ง (มาตรา 65 จัตวา)
    • ปรับไม่เกิน 30,000 บาท
    • ปรับเป็นรายวัน ๆ ละไม่เกิน 5,000 บาท